the King Rama 10

ทุนสนับสนุนการวิจัย

คุณสมบัติผู้วิจัย/หัวหน้าโครงการ
  1. อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

  2. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และความชำนาญตรงตามสาขาที่ดำเนินการวิจัย

  3. มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาโทหรือมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์ไม่น้อยกว่า 5 ปี

  4. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยประเภทใดประเภทหนึ่งได้คราวละหนึ่งโครงการ

กรอบการอุดหนุนวิจัยและเงื่อนไขการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย

                 มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ได้จัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ของบุคลากร เพื่อให้สอดรับกับพันธกิจด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย และเพื่อให้การจัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัยและงานสร้างสรรค์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในทิศทางเดียวกันและสอดรับกับยุทธศาสตร์การวิจัยระดับชาติ จึงได้กำหนดกรอบในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและงานสร้างสรรค์ ซึ่งแบ่งตามสาขาที่มุ่งเน้น (Areas of Excellence) และด้านอื่นๆ รวม 5 ด้าน ดังนี้


    ด้านที่ 1 : สุขภาพ และ การกีฬา (Health & Sports)

                 หมายถึง สุขภาพ (Health) หมายถึง ผลงานที่ส่งเสริม (ที่สอดคล้องหรือเกี่ยวข้อง) สุขภาพทางกายและทางจิต /สุขภาวะของบุคคล ชุมชน และสังคมรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกช่วงวัย ทุกเพศ และทุกกลุ่มเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ประกอบด้วย ด้านโภชนาการ ด้านการออกกำลังกาย และด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม การกีฬา (Sports) หมายถึง ผลงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาการกีฬา และธุรกิจกีฬา รวมถึงการนำเอากีฬาและการออกกำลังกายมาเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพ ประกอบด้วยการออกกำลังกายและกีฬาขั้นพื้นฐาน(เด็กและเยาวชน) กีฬาอาชีพ กีฬาเพื่อการแข่งขัน กีฬาและนันทนาการเพื่อมวลชน

    • การออกกำลังกายและกีฬาขั้นพื้นฐาน (เด็กและเยาวชน)
    • กีฬาอาชีพ
    • ความเป็นเลิศเพื่อการแข่งขัน
    • กีฬาและนันทนาการเพื่อมวลชน


    ด้านที่ 2 : การบิน และ โลจิสติกส์ (Aviation & Logistics)

                 หมายถึง การบิน (Aviation) หมายถึง ผลงานที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพและอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจร ประกอบด้วย การขนส่งทางอากาศ (Air Cargo) การบริการภาคพื้น/บนอากาศยาน (Ground Service & Inflight Service) การจัดการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Management) การผลิตวิศวกรการบิน/ช่างบำรุงอากาศยาน ผู้ควบคุมอากาศยาน ตลอดจนการจัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้อง โลจิสติกส์ (Logistics) หมายถึง ผลงานที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการวางแผนระบบการขนส่งและโครงข่ายคมนาคมทุกรูปแบบ การจัดเก็บและควบคุมสินค้า การบรรจุภัณฑ์การส่งสินค้า รวมถึงการติดต่อธุรกิจระหว่างประเทศ


    ด้านที่ 3 : นวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation)

                 หมายถึง นวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) หมายถึง ผลงานที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ ในมิติของการพัฒนาสังคมและองค์กรธุรกิจตามบริบทของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นความปรองดอง ลดความเหลื่อมล้ำการเสริมสร้างพลังทางสังคม การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนและท้องถิ่นในการพัฒนาตนเองในการอยู่ร่วมกันในสังคมหลากหลายวัฒนธรรม รวมทั้งการพัฒนาทุนมนุษย์ การยกระดับคุณภาพชีวิตในสังคม


    ด้านที่ 4 : วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น (Culture & Local Wisdom)

                 หมายถึง วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น (Culture & Local Wisdom) หมายถึง ผลงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและการบริการที่ส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ โดยใช้วัฒนธรรม ความเป็นไทย วิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นหลักในการบูรณาการ


    ด้านที่ 5 : ด้านอื่นๆ ที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของสังคม

                 หมายถึง เป็นงานวิจัยเพื่อการพัฒนา ซึ่งไม่สอดคล้องกับสาขาที่มุ่งเน้นใน 4 ด้านแรก แต่เป็นงานวิจัยที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์วิจัยระดับชาติ หรือสอดคล้องกับความต้องการของสังคม หรือมีผลงานวิจัยส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างสูง และอาจต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการวิจัยเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนหรือมหาวิทยาลัย กรอบการวิจัยนี้ ประกาศให้ใช้ในปีการศึกษา 2563 โดยมหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญในการพิจารณาอนุมัติและจัดสรรงบประมาณแก่เค้าโครงการวิจัยที่สอดรับหรือมีความเกี่ยวเนื่องกับกรอบงานวิจัยนี้ก่อน ทั้งนี้หากการเสนอขอรับทุนสนับสนุนการวิจัย ไม่สอดคล้องกับจากกรอบหัวข้อการวิจัยที่กำหนด ขอให้เสนอเค้าโครงการวิจัย เข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและจัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัยเป็นรายโครงการ


การเสนอขอรับทุน
  1. จัดทำแบบเสนอโครงการวิจัยตามแบบของมหาวิทยาลัย และเสนอรับความเห็นชอบและการรับรองจากคณบดี/ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น

  2. ส่งแบบเสนอโครงการวิจัย จำนวน 6 ชุด มายังสำนักวิจัย

  3. คณะกรรมพิจารณาโครงการวิจัยพิจารณาโครงการวิจัย พิจารณาแล้วมีมติ

    • โครงการวิจัยสมควรปรับปรุง ให้ผู้วิจัยปรับปรุงโครงการวิจัยตามมติคณะกรรมการฯ และเสนอมายังสำนักวิจัยอีกครั้ง

    • โครงการวิจัยมีความเหมาะสม เลขานุการฯ นำโครงการวิจัยเสนอคณะกรรมการพิจารณาโครงการวิจัยเพื่อนัดประชุมพิจารณาการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยต่อไป

  4. หมายเหตุ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขงานวิจัยใดๆ ในโครงการวิจัยที่ได้รับการอนุมัติแล้วผู้วิจัยจะต้องทำบันทึกเสนอขออนุมัติต่อผู้อำนวยการสำนักวิจัย

เกณฑ์การพิจารณาโครงการวิจัย
  1. เ. เป็นโครงการวิจัยที่ตรงกับกรอบทุนสนับสนุนการวิจัย และตรงกับสาขาวิชาที่ผู้วิจัยมีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญ

  2. เป็นโครงการวิจัยที่มุ่งแก้ปัญหาและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ หรือเป็นโครงการวิจัยที่พัฒนาองค์ความรู้ให้เกิดความก้าวหน้าในศาสตร์แต่ละสาขาวิชา หรือเป็นโครงการวิจัยที่เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนการสอน

  3. เป็นโครงการวิจัยที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสม

  4. . เป็นโครงการวิจัยที่มีความเป็นไปได้ในการทำวิจัยและตามกำหนดระยะเวลา 1 ปี

  5. หมายเหตุ ระยะเวลาการพิจารณาโครงการวิจัยมหาวิทยาลัยจะพิจารณาโครงการวิจัยที่เสนอขอรับทุนเป็นประจำในเดือน กุมภาพันธ์,เมษายน,มิถุนายน,สิงหาคม,ตุลาคม,ธันวาคม โดยจะปิดรับการยื่นโครงการวิจัยในวันที่ 10 ของเดือนพิจารณาทุนวิจัย และจะประชุมในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน

การขออนุมัติเบิกเงินสนับสนุนการวิจัย
มหาวิทยาลัยได้กำหนดการเบิกจ่ายเงิน ออกเป็น 4 งวด
  • งวดที่ 1 เบิกได้ร้อยละ 30 เบิกให้หลังจากจัดทำสัญญาการรับทุนสนับสนุนการวิจัยเรียบร้อยแล้ว พร้อมผลตรวจการคัดลอกผลงานไม่เกินร้อยละ 30

  • งวดที่ 2 เบิกได้ร้อยละ 40 เบิกให้หลังจากได้รับเอกสารต่อไปนี้ (1) หนังสือรับรองจริยธรรมโครงการวิจัยในมนุษย์ (จย-00-01) (2) แบบรายงานความก้าวหน้าการวิจัย (สว.01.07) และงานวิจัยประกอบด้วย บทที่ 1 บทนำ - บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย) และ(3) แบบสรุปค่าใช้จ่ายเงิน (สว. 01.08) งวดที่ 1 พร้อมหลักฐานโดยมีรายละเอียดตามรายการที่ได้รับอนุมัติทุนวิจัยเท่านั้น

  • งวดที่ 3 เบิกได้ร้อยละ 15 เบิกให้หลังจากได้รับ (1) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาฯแล้ว และ (2) แบบสรุปค่าใช้จ่ายเงิน (สว. 01.08) งวดที่ 2 และงวดที่ 3 พร้อมหลักฐานโดยมีรายละเอียดตามรายการที่ได้รับอนุมัติทุนวิจัยเท่านั้น

  • งวดที่ 4 เบิกได้ร้อยละ เบิกให้หลังจากได้ตีพิมพ์ลงในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม 1 หรือTCI กลุ่ม 2 หรือในวารสารระดับนานาชาติที่ปรากฏในฐานข้อมูลวารสารที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาองค์การมหาชน (สมศ.) ยอมรับ และแบบสรุปค่าใช้จ่ายเงิน (สว. 01.08) งวดที่ 4 พร้อมหลักฐานโดยมีรายละเอียดตามรายการที่ได้รับอนุมัติทุนวิจัยเท่านั้น

การรายงานผลการวิจัย
  1. ผู้รับทุนต้องนำส่งผลงานวิจัยในรูปรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ซึ่งมีรูปแบบและเนื้อหาตามบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มายังสำนักวิจัย จำนวน 4 ชุด พร้อมซีดีบันทึกข้อมูลรายละเอียดงานวิจัยและผลิตผลงานวิจัย เช่น Software, Website, Application เป็นต้น ตามกำหนดระยะเวลาที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ให้ทุน

  2. ผู้รับทุนต้องนำส่งบทความวิจัยจากงานวิจัยที่ได้รับทุนนี้ มายังสำนักวิจัย จำนวน 1 ชุด โดยจะต้องตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารระดับชาติที่มีรายชื่อยู่ในฐานข้อมูล TCI (ในกลุ่ม 1 หรือกลุ่ม 2) หรือในวารสารระดับนานาชาติที่ปรากฏในฐานข้อมูลวารสารที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาองค์การมหาชน (สมศ.) ยอมรับ

  3. ในกรณีที่ผู้รับทุนมีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการวิจัยให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลา ผู้รับทุนหรือผู้แทนที่ผู้รับทุนมอบหมายแล้วแต่กรณี ต้องแจ้งเหตุผลและความจำเป็นนั้นให้ ผู้ให้ทุนทราบเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขออนุมัติการขยายเวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันครบกำหนดในสัญญา และโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาได้ให้ถือเอาวันสุดท้ายของการขยายระยะเวลาเป็นวันกำหนดส่งผลงาน